เตรียมพร้อมรับมือ PM 2.5
ช่วงปลายปีเราจะเริ่มสังเกตเห็นว่าท้องฟ้าดูฝ้ามัว เห็นวิวรอบข้างไม่ชัด ใช่ค่ะ pm2.5มาแล้ว ซึ่งเราจะต้องพบปัญหาpm 2.5สูงอย่างนี้ไปทุกปี pm2.5ซึ่งเป็นฝุ่นพิษที่มีขนาดเล็กจนสามารถซึมเข้ากระแสเลือดและมีผลกับอวัยวะต่างๆในร่างกายเรา โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคปอดและหลอดลมรวมถึงผู้ป่วยภูมิแพ้ จะได้รับผลกระทบและมีอาการที่ผิดปกติได้ ดังนั้นวันนี้จะมาเตรียมตัวสู้ฝุ่นpm2.5กันนะคะ
1. ติดตามและเช็คคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ
– สำหรับประเทศไทยจะใช้ข้อมูลติดตามสถานการณ์ปัญหาหมอกควัน โดยใช้ “ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air quality index, AQI) ซึ่งเมื่อค่าAQIมากกว่า100แสดงว่าคุณภาพอากาศไม่ดีและมีผลต่อสุขภาพ ดังนั้นควรมีการเช็คสภาพอากาศและระดับ AQIเป็นระยะ โดยสามารถเช็คได้จาก Application “ Air4Thai” หรือสามารถเช็คคุณภาพอากาศแบบ real timeได้ที่ลิงค์ http://aqicn.org/city/bangkok
2. หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้าน
– จำกัดเวลาในการทำกิจกรรมที่อยู่นอกอาคาร
– หลีกเลี่ยงการออกกำลังการหรือกิจกรรมที่ออกแรงหนัก
3. ใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันpm2.5
– ควรเลือกใช้หน้ากากที่มีเครื่องหมาย NIOSHทั้งประเภทN95หรือ P100 ที่มีขนาดพอเหมาะครอบได้กระชับทั้งจมูกและใต้คางแนบสนิทกับใบหน้า
– หากไม่สามารถหาหน้ากากN95ได้ก็สามารถใช้การใช้หน้ากากธรรมดาได้(แต่อาจไม่สามารถป้องกันฝุ่นได้ดีนัก) โดยต้องสวมให้แนบสนิทกับใบหน้า
– ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ และในเด็กเล็กไม่แนะนำให้ใส่N95
4. เตรียมห้องและที่อยู่อาศัยอย่างถูกวิธี
– ควรให้ในบ้านมีห้องที่สะอาด มีประตูหน้าต่างน้อยที่สุด ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและปิดรูหรือช่องที่อากาศจากภายนอกเข้ามาในอาคาร
– ทำความสะอาดห้องอยู่เสมอ โดยช้ผ้าชุบน้ำหมาด ไม่ใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่น
– ควรใช้เครื่องปรับอากาศเอช่วยหมุนเวียนอากาศและปรับอุณหภูมิให้เหมาะ
– ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีขนาดเหมาะกับห้องที่ต้องอยู่อาศัย
5. เตรียมยาประจำตัว และสังเกตอาการที่ผิดปกติ
– ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรรับยาและรักษาต่อเนื่อง
– ผู้ป่วยโรคปอดหรือหอบหืดควรเตรียมยาสำหรับกรณีอาการกำเริบ เช่น ยาขยายหลอดลมให้พร้อม
– สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น แสบโพรงจมูก แสบเคืองตามาก หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์
หากเราเตรียมตัวและทราบวิธีรับมืออย่างถูกต้อง ก็จะสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นpm2.5 ทราบการสังเกตอาการว่าเมื่อไรที่ผิดปกติ
ก็จะสามารถผ่านช่วงที่มีปัญหาฝุ่นไปได้ด้วยดีค่ะ
แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน