Select Page

🔸บทความทางการแพทย์

 โรคภูมิแพ้จมูก เป็นโรคที่พบได้บ่อยประมาณร้อยละ 40 ของประชากรทั่วไป และพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปจะเกิดการอักเสบของเยื่อจมูก ได้แก่ อาการคัน น้ำมูกไหล จาม และคัดจมูก แม้ว่าโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นี้มักไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอื่น เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โรคหืด ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก นอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับตามมา
อาการ
ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล และคันจมูกชอบขยี้จมูก จนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำตาไหล คันหู หูอื้อ ร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือเมื่อเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้น ตลอดจนฝุ่นละอองในอากาศ บางคนที่เป็นเรื้อรัง จะพบมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย

การวินิจฉัย
อาศัยประวัติของอาการโรคภูมิแพ้จมูกร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะระบบหู คอ จมูก นอกจากนี้ยังตรวจเพิ่มเติมที่จะช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงได้อย่างถูกต้อง ได้แก่

  •  การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพทย์จะใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังที่แขน แล้วใช้เข็มสะกิดตรงกลางหยดน้ำยา เพื่อเปิดผิวหนังชั้นบนออก ถ้าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาอักเสบจากภูมิแพ้ที่จำเพาะต่อสารภูมิแพ้นั้น ก็จะเกิดรอยนูนและผื่นแดง และจะมีอาการคัน
    ข้อดี คือ ทราบผลเร็ว อ่านผลได้ในเวลา 20 นาที หลังจากการทดสอบ ราคาไม่แพง
    ข้อจำกัด คือ ผู้ป่วยต้องหยุดยาแก้แพ้ก่อนวันที่จะทดสอบ 7 วัน และต้องไม่มีการอักเสบของผิวหนังตำแหน่งที่จะทำการทดสอบ
  • การหาปริมาณสารก่อภูมิแพ้ในเลือด
     ข้อดี คือ ไม่เจ็บและไม่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้มาก ไม่จำเป็นต้องงดยาบรรเทาอาการภูมิแพ้ สามารถตรวจหาสารที่ผู้ป่วยแพ้ได้หลายชนิด
     ข้อเสีย  มีราคาสูง

การรักษา
1. การหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้
เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือกำจัด หรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ใน
สิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด แนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตว่าสารหรือภาวะแวดล้อมอะไรที่ทำให้อาการเป็นมาขึ้น เพื่อจะได้หลีกเลี่ยง
2. การรักษาด้วยการใช้ยา ได้แก่
ยาแก้แพ้ จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อให้ยาก่อนที่จะสัมผัสกับสารก่อภูมแพ้ การใช้ยากลุ่มนี้แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากและอาการเพียงครั้งคราว
            ยาบรรเทาอาการคัดจมูก มีทั้งในรูปแบบรับประทาน และใช้เฉพาะที่ ทำให้หลอดเลือดหดตัว และเนื้อเยื่อจมูกยุบบวมทำให้อาการคัดจมูกน้อยลง
        ยาสเตียรอยด์ สามารถให้ได้ในรูปแบบรับประทาน และชนิดพ่นจมูก โดยยาสเตียรอยด์พ่นจมูกถือเป็นการรักษามาตราฐานของโรคนี้ โดยเป็นยาที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สามารถใช้ป้องกันและควบคุมอาการ ควรใช้ต่อเนื่องทุกวัน โดยแพทย์จะนัดมาดูอาการเพื่อปรับลดขนาดยาเป็นระยะ

3. วิธีการอื่นๆ ได้แก่ การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ และการผ่าตัด

การฉีดวัคซีน (allergen immunotherapy) เป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเข้าไปร่างกายทีละน้อย โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนจนได้ขนาดสูงสุดที่ผู้ป่วยรับได้ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือมีโรคหอบหืดร่วมด้วย การฉีดวัคซีนนี้เป็นวิธีเดียวที่มีแนวโน้มว่าจะรักษาโรคโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ให้หายได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ระดับภูมิคุ้มกัน องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มฉีดวัคซีนในระยะแรกของโรคเมื่อมีข้อบ่งชี้ เพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา และป้องกันไม่ให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงรวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนจากโรคตามมา
การผ่าตัด ทำในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคันมาก หลังจากให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้นหรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด ไซนัสอักเสบที่ไม่ดีขึ้น หลังการให้การรักษาด้วยยา

     โรคภูมิแพ้จมูกสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาการพ่นยาในจมูก การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เป็นประจำ และการรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดร่วม เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น การรักษาโรคแพ้อากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเอง และแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตนเองของผู้ป่วย และดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม เหล่านี้จะช่วยทำให้อาการของโรคทุเลาลงมาก จนไม่มีอาการเลย

ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน