Select Page

รักษาโรคภูมิแพ้ด้วยวัคซีน

Sep 24, 2020 | อ่านบทความทั้งหมด, บทความสุขภาพ

🔸บทความทางการแพทย์

     วัคซีนภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy) เป็นการปรับสมดุลของภูมิคุ้มกันในร่างกายจากภูมิคุ้มกันที่ทำให้ร่างกายมีอาการแพ้(IgE)เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้หายแทน โดยการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้โดยเริ่มต้นให้จากปริมาณที่น้อยและปรับขึ้นจนผู้ป่วยควบคุมอาการได้ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-5 ปีจึงจะทำให้ช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอาการได้ดีขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังช่วยลดและหยุดการใช้ยาควบคุมอาการได้

ผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้างที่ควรรับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้

ได้แก่ ผู้ป่วยผู้ใหญ่และผู้ป่วยเด็กที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ที่ตรวจพบว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ (ทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังให้ผลบวกที่      15 นาที และ/หรือตรวจเลือดหาภูมิแพ้ให้ผลบวก) ที่มีอาการของโรค ภูมิแพ้จมูก(Allergic Rhinitis), หอบหืด(Asthma), ผื่นแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)ที่ได้รับการรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น

ข้อห้ามของการให้วัคซีนภูมิแพ้ ได้แก่

            1. ผู้ป่วยหอบหืดที่ยังควบคุมอาการไม่ได้

            2. ผู้ป่วยที่ทำการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง และ/หรือ ตรวจเลือดหาSpecific IgEต่อสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศแล้วให้ผลลบ

ปัจจุบันการรักษาด้วยการให้วัคซีนภูมิแพ้มี 2 วิธี ได้แก่

1. การฉีดใต้ผิวหนัง (Subcutaneous immunotherapy) โดยในช่วงแรกแพทย์จะทำการฉีดวัคซีนที่ท้องแขน ทุก 1 สัปดาห์จนผู้ป่วยเริ่มควบคุมอาการได้แล้วค่อยๆเพิ่มระยะห่างของการฉีดเป็นทุก 2-4 สัปดาห์ เมื่ออาการคงที่ก็จะนัดฉีดทุก 4 สัปดาห์ต่อเนื่องจนครบ 3-5 ปี มีข้อด้อยคือ เจ็บ เด็กไม่ค่อยให้ความร่วมมือ และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ แพ้รุนแรงแบบ Anaphylaxis ได้แม้จะเกิดไม่บ่อยนัก

2. การอมใต้ลิ้น (Sublingual immunotherapy) โดยแพทย์จะเตรียมวัคซีนในรูปแบบของยาน้ำหรือแบบเม็ด ให้ผู้ป่วยอมที่บ้านทุกวันตามคำ แนะนำให้แพทย์อย่างต่อเนื่องจนครบ 3-5 ปี ข้อดีคือ ไม่เจ็บ โอกาสเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อย แต่จะมีราคาที่สูงกว่า

การประเมินผลของการรักษา

ในระหว่างที่ให้การรักษาด้วย วัคซีนภูมิแพ้ แพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะเพื่อปรับการใช้ยาและติดตามผลข้างเคียง มีการตรวจเลือดและทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังซ้ำหลังเริ่มวัคซีนครบ 1 ปี,  2 ปี และ 3ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินประสิทธิภาพของการรักษาและพิจารณาก่อนหยุดวัคซีนภูมิแพ้

กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ครบ 1 ปีแล้วอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แสดงว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษาและอาจมีความจำเป็นต้องหยุดวัคซีนภูมิแพ้

    ในการพิจารณาว่าผู้ป่วยควรรับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้หรือไม่ และควรใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนนั้น ต้องปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้เพื่อให้ได้ผลของการรักษาที่ดีที่สุดค่ะ

พญ.ธัชขวัญ อินปันตี  

                                                                        แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน