การทรงตัวผิดปกติอันตรายแค่ไหน
การทรงตัวผิดปกติอันตรายแค่ไหน
อวัยวะที่ควบคุมกลไกการทรงตัวของมนุษย์ประกอบไปด้วย
- ระบบประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง)
- ระบบสายตา การมองเห็น
- ระบบรักษาสมดุลโดยหูชั้นใน
- ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ
ทั้ง 4 อวัยวะนี้เป็นอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวของมนุษย์เพื่อให้เป็นปกติได้การทรงตัวที่ผิดปกติหรือการศูนย์เสียสมรรถภาพการทรงตัว อาจเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวที่กล่าวมาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น ความผิดปกติของระบบประสาท ได้แก่โรคหลอดเลือดสมอง(หลอดเลือดสมองอุดตัน, เลือดออกในสมองตรงตำแหน่งที่ควบคุมการทรงตัว เช่น กานสมอง, พาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง หรือ ภาวะช่องน้ำในโพรงสมองโต เป็นต้น) นอกจากนี้แล้วอาจเกิดจาภาวะความผิดปกติของหูชั้นใน เช่น กลุ่มโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคตะกอนในหูอยู่ผิดที่ผิดตำแหน่ง, การมองเห็นภาพไม่ชัดเจนจากโรคต้อต่างๆ ทั้งภาวะสายตาสั้น ยาว เอียง รวมถึงกระดูกข้อต่อกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ เช่น กระดูกคอ กระดูกหลัง เสื่อมสภาพ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะทรงตัวที่ผิดปกติได้เช่นกัน
ผู้ป่วยที่มีอาการทรงตัวผิดปกติมักจะมาตรวจด้วยปัญหาการทรงตัวไม่ดี มีอุบัติเหตุหกล้มบ่อยๆ มีการเดินที่ช้าลง โดยเฉพาะถ้าเกิดในผู้สูงอายุอาจถึงขั้นเดินน้อยลงหรือไม่กล้เดินเลย ส่วนอาการร่วมอื่นๆ นั้น จะแล้วแต่สาเหตุของโรคว่าเกิดจากอะไร เช่น ภาวะโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน ผู้ป่วยอาจจะมีอาการทรงตัวผิดปกติเฉียบพลันร่วมกับอาการเวียนศรีษะ เช่น การมองเห็นภาพซ้อน ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง และแขนขาอ่อนแรง
การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยประวัติจากผู้ป่วย, การตรวจร่างกาย, การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ อาจรวมถึงการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ เอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การรักษาขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของการทรงตัวผิดปกตินั้นๆ เพื่อให้การรักษาจำเพาะในโรคนั้น ซึ่งบางโรคมีความสำคัญต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที การฟื้นสภาพปกติก็จะกลับมาอย่างรวดเร็วและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีการทรงตัวผิดปกติจากหลอดเลือดสมองอุดตันจะได้รับการรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
การทรงตัวของมนุษย์มีความสำคัญที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตเป็นปกติได้แม่ว่าเราจะอายุมากขึ้นการทรงตัวก็ยังคงปกติ ดังนั้นหากพบความผิดปกติของการทรงตัว ทั้งแบบเฉียบพลัน, รุนแรง หรือมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจการรักษา เพราบางโรคนั้นสำคัญหากทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายได้
แพทย์อายุรกรรมโรคระบบประสาท, อายุรกรรมทั่วไป