Select Page
แพ้อาหารโรคฮิตของคนรุ่นใหม่

แพ้อาหารโรคฮิตของคนรุ่นใหม่

แพ้อาหารโรคฮิตของคนรุ่นใหม่

🔸บทความทางการแพทย์

การแพ้อาหารจัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง  ซึ่งพบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่และพบในเด็กเล็กบ่อยกว่าเด็กโต  ในปัจจุบันเด็กไทยมีแนวโน้มแพ้อาหารสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน

         การแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยๆ โดยมักจะแพ้อาหารประเภท นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ซึ่งอาจแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้ค่ะ   แต่ก็มีอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการแพ้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ เช่น อาหารทะเลมีเปลือกหุ้ม (shellfish) จำพวก กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย ภาวะแพ้รุนแรงหลังจากกินแป้งสาลีแล้วไปออกกำลังกาย (wheat-dependent exercise induced anaphylaxis; WDEIA) เป็นต้น

         เราสามารถสังเกตอาการแพ้อาหารเบื้องต้นได้คร่าวๆ โดยอาการแพ้ที่พบบ่อยที่สุดคือ ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม หรือถ่ายเป็นมูกเลือดในทารก ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเสี่ยง

 มาดูอาหารยอดฮิตที่คนไทยแพ้กันค่ะ

1. นมวัว (cow’s milk) เป็นอาหารที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด ในเด็กเล็กอาจมีอาการถ่ายเป็นมูกเลือด หายใจครืดคราด แหวะนมบ่อย ผื่นคันเรื้อรัง บางคนอาจมีอาการเฉียบพลัน เช่น ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ

2. ไข่ (egg) จะพบอาการแพ้ทางผิวหนังบ่อยกว่าอาการระบบอื่นค่ะ ผื่นมีได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มักแพ้ไข่ขาวมากกว่าไข่แดง บางคนแพ้เฉพาะไข่ดิบหรือไข่ที่ยังสุกไม่ดี เช่น น้ำสลัดครีม ไข่ลวก ไข่ในโจ๊ก

3. แป้งสาลี (wheat) อาจเริ่มแพ้ตั้งแต่ในวัยเด็กหรือเพิ่งมาแพ้ตอนโตในวัยผู้ใหญ่ก็ได้ค่ะ อาจเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis)

4. ถั่วเหลือง (soy) เป็นถั่วที่เด็กไทยแพ้มากที่สุด คนที่แพ้ถั่วเหลืองอาจทานถั่วชนิดอื่นๆได้ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง เพราะอยู่คนละกลุ่มกัน ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงถั่วทั้งหมด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน

5. อาหารทะเลมีเปลือกหุ้ม (shellfish) เช่น กุ้ง ปู ปลาหมึก หอย มักพบอาการแพ้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ บางคนแพ้เฉพาะบางสายพันธุ์ บางสายพันธุ์กินได้ไม่แพ้ บางคนแพ้ทุกสายพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้ที่แพ้มักจะแพ้ทั้งปรุงสุกและดิบเพราะโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ทนต่อความร้อน   ส่วนปลาทะเลจะไม่รวมอยู่ในกลุ่มนี้นะคะ  เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้แตกต่างกัน ถ้าแพ้อาหารทะเลมีเปลือกหุ้มไม่จำเป็นต้องงดปลาทะเลค่ะ

        การรักษาการแพ้อาหารสิ่งที่สำคัญคือการระบุได้ว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดและหลีกเลี่ยงอาหารและส่วนประกอบของอาหารชนิดนั้นค่ะ แนะนำให้อ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนรับประทาน และถ้ามีประวัติแพ้รุนแรงต้องพกยาฉีด adrenalineติดตัฝึกซ้อมการฉีดให้ถูกต้องและพกบัตรประจำตัวสำหรับผู้ที่มีภาวะแพ้รุนแรงสำหรับผู้ที่แพ้และต้องงดอาหารหลายชนิด ควรได้รับการดูแลเรื่องโภชนาการให้เหมาะสม จะได้มีการเจริญเติบโตที่ดีและไม่มีภาวะขาดสารอาหารค่ะ

         แล้วจะหายจากการแพ้อาหารได้ไหมหนอ  สำหรับการแพ้อาหารในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น อาหารที่เด็กหายแพ้ได้เร็วจะเป็นอาหารประเภท ไข่และนมวัว พบว่าที่อายุ 2-3 ปี โอกาสหายร้อยละ 70-90 รองลงมาคือ แป้งสาลี โอกาสหายร้อยละ 60 แต่หลังจากอายุ 3 ปี โอกาสหายจะลดลงค่ะ สำหรับอาหารที่มีโอกาสหายแพ้ได้น้อยคือ อาหารทะเลมีเปลือกหุ้ม  แต่สำหรับการแพ้อาหารที่เริ่มเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ มักจะไม่หายขาดนะคะ

         สำหรับเด็กที่ไม่หายจากการแพ้อาหารเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาหารชนิดที่แพ้ได้ หรือการแพ้นั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว ในปัจจุบันมีการรักษาการแพ้อาหารเฉพาะกรณีที่แพ้แบบเฉียบพลัน ในผู้ป่วยที่แพ้ถั่วลิสง แป้งสาลี นมวัว ไข่  เรียกว่า วิธีการรักษาภาวะแพ้อาหารโดยวิธีรับประทาน” (oral immunotherapy) แต่การรักษาจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลและทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะคะ เพราะเสี่ยงต่อการแพ้รุนแรงได้

         การที่เด็กแพ้อาหาร นอกจากมีผลต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองแล้ว ยังส่งผลการกระทบเป็นมุมกว้าง ทั้งครอบครัว โรงเรียน สังคม ดังนั้นผู้ปกครองต้องมีความรู้ที่ดีในการดูแล

         ถ้าสงสัยว่ามีอาการแพ้อาหารหรือมีลักษณะอาการที่เข้าข่ายการแพ้อาหาร แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ จะได้ทำการตรวจและแนะนำให้หลีกเลี่ยงได้ถูกชนิดและไม่ไปจำกัดอาหารประเภทอื่นๆมากจนเกินไป  รวมถึงไม่ควรไปทดลองรับประทานอาหารที่อาจจะแพ้เอง เพราะอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ

พญ. กัญลดา ว่องวรภัทร

แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน 

 

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้อาหาร

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้อาหาร

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้อาหาร

🔸บทความทางการแพทย์

 

อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นกับเด็กสามารถแสดงออกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. แพ้เฉียบพลัน  อาการมักเกิดขึ้นเร็ว ภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารที่แพ้เข้าไปโดยอาจมีอาการที่ระบบใดระบบหนึ่งดังต่อไปนี้

         – อาการทางผิวหนัง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม

         – ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว

         – ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก นำ้มูกไหล 

หรือ อาจเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis) คือ มีอาการแพ้เฉียบพลันเกิดขึ้นมากกว่า 1 ระบบ มีความรุนแรงมากกว่าและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เช่น ตัวแดง ลมพิษทั่วตัว ร่วมกับหลอดลมตีบหายใจลำบาก/ไอ/หอบเหนื่อย ปวดท้อง/อาเจียน/ถ่ายเหลว ความดันต่ำ ช็อก ซึม และชัก

2. แพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาเป็นวันถึงหลายวันหลังจากกินอาหารที่แพ้ เช่น

         – อาการทางผิวหนัง กระตุ้นให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ (atopic dermatitis) เกิดผื่นแดง คัน ผิวแห้ง

         – ระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด แหวะนมบ่อย ภาวะลำไส้รั่ว ท้องเสียเรื้อรังน้ำหนักไม่ขึ้น

         – ระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจครืดคราดเรื้อรัง หายใจดัง นอนกรน

         นอกจากอาการและอาการแสดงต่างๆที่กล่าวมาแล้ว เรายังสามารถตรวจการแพ้อาหารด้วยวิธี ‘การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม’ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการแพ้ชนิดใดค่ะ ถ้าเป็นการแพ้เฉียบพลัน สามารถทำการตรวจโดยใช้วิธีสะกิดผิวหนัง (skin prick test) หรือการตรวจเลือดหาspecific IgE ต่ออาหารที่แพ้ได้ แต่กรณีที่เป็นการแพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป การตรวจโดยสะกิดผิวหนังและการตรวจ specific IgE อาจไม่พบความผิดปกติ  แพทย์อาจให้ทดลองหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วดูว่าอาการแพ้ต่างๆหายไปหรือไม่ การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด คือ การทดสอบให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oral food challenge test) แต่การตรวจวิธีนี้จะต้องอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของแพทย์เสมอ โดยเฉพาะกรณีที่แพ้เฉียบพลัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ค่ะ

 

พญ. กัญลดา ว่องวรภัทร

แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

 

 

รู้จักวัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น

รู้จักวัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น

รู้จักวัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น

🔸บทความทางการแพทย์

วัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น (Sublingual Immunotherapy, SLIT) เป็นวิธีการรักษาภูมิแพ้โดยการให้คนไข้อมวัคซีนภูมิแพ้ใต้ลิ้นทุกวัน อย่างต่อเนื่องจนครบ 3-5 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันของร่างกายให้หายจากการเป็นภูมิแพ้จนสามารถหยุดยาต่างๆได้  โดยปัจจุบันนี้วัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้น มี 2 ชนิด

1. วัคซีนแบบน้ำ สามารถให้ได้ในผู้ป่วยเด็กที่อายุตั้งแต่5ปีขึ้นไป โดยเริ่มที่ ความเข้ม 1: 100 เริ่มที่ 1หยดอมใต้ลิ้นนาน 5 นาที ทุกวันต่อเนื่องและค่อยๆเพิ่มปริมาณครั้งละ 1หยด ต่อเนื่องอย่างน้อย 14วันหรือจนอาการดีคงที่ และเพิ่มจนถึง ครั้งละ 5หยดต่อวัน แล้วปรับความเข้มขึ้น ตามลำดับ เป็น 1:50, 1:20, 1:10 และ 1:5 จนอาการดีขึ้น แล้วปรับลดความถี่ของการอมยา เหลือ 3-4ครั้งต่อสัปดาห์ จนครบ3ปี

2. วัคซีนภูมิแพ้แบบเม็ด (Acarizax) อมใต้ลิ้นทุกวัน ต่อเนื่องจนครบ 3 ปี สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ไรฝุ่นที่มีอายุมากกว่า 12ปีขึ้นไป ในระหว่างการรักษา หากผู้ป่วยมีแผลในปาก, ถอนฟัน, ได้รับการผ่าตัดในช่องปากจะต้องหยุดการอวัคซีนภูมิแพ้จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของวัคซีนภูมิแพ้ชนิดอมใต้ลิ้นค่อนข้างน้อย และไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ ได้แก่ คันเพดานปาก, ริมฝีปากบวม, คัดจมูก , คันจมูก, คันตา ซึ่งหากมีอาการดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้ทานยาบรรเทาอาการร่วมด้วย โอกาสที่จะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น หอบหืดกำเริบ, แพ้รุนแรง ค่อนข้างน้อยมาก อย่างไรก็ตามในการเริ่มวัคซีนครั้งแรกควรทำที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการใกล้ชิดและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

การประเมินผลของการรักษา

แพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะเพื่อปรับการใช้ยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละรายและติดตามผลข้างเคียงทีอาจเกิดขึ้น มีการตรวจเลือดและทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังซ้ำหลังเริ่มวัคซีนครบ1ปี, 2ปีและ3ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินประสิทธิภาพของการรักษาและพิจารณาก่อนหยุดวัคซีนภูมิแพ้ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ครบ1ปีแล้วอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้น แสดงว่าไม่ตอบสนองต่อการรักษาและอาจมีความจำเป็นต้องหยุดวัคซีนภูมิแพ้

ดูแลเด็กเล็กให้ห่างไข้ในฤดูฝน

ดูแลเด็กเล็กให้ห่างไข้ในฤดูฝน

ดูแลเด็กเล็กให้ห่างไข้ในฤดูฝน

🔸บทความทางการแพทย์

วัยเด็กถือว่าเป็นช่วงวัยที่ต้องดูแลใส่ใจในเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ เพราะระบบภูมิต้านทานในร่างกายของเด็กนั้นไม่เหมือกับผู้ใหญ่ ดังนั้นในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงหรือช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสต่างๆ พ่อแม่จึงต้องดูแลเอาใจใส่สุขภาพของลูกรักเป็นพิเศษ ทั้งนี้โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ อาทิเช่น โรคไข้หวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่  ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา โรคมือเท้าปาก เป็นต้น

โรคไข้หวัดธรรมดา

โรคไข้หวัดธรรมดา (ไข้หวัดตามฤดูกาล) หรือ Commom cold เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในช่วงหน้าฝน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนบนบริเวณโพรงจมูกและคอหอย อาการของโรคหวัด คือ น้ำมก คัดจมูก ไอ ในเด็กเล็กมักมีไข้ แต่อาการจะไม่รุนแรง ทั้งนี้ในเด็กเล็กอายุประมาณ 2-5 ปี จะเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดได้บ่อยที่สุด เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ เด็กๆมีโอกาสไปโรงเรียนหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งจะมีเด็กเล็กรวมกันหลายคนทำให้มีโอกาสที่เด็กเล็กคนหนึ่งป่วยจะแพร่กระจายเชื้อต่อให้เด็กคนอื่นๆได้ง่าย โดยเฉลี่ยเด็กเล็กจะมีโอกาสเป็นหวัดปีละ 6-8 ครั้ง

การรักษาไข้หวัดและระยะเวลาที่เด็กควรจะหายไข้

โรคไข้หวัดสามารถหายได้เอง ไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ โดยทั่วไปอาการจะไม่นานเกิน 1-2 สัปดาห์ การรักษาจะทำเพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วย เช่น มีไข้ให้เช็ดตัวลดไข้หรือรับประทานยาพาราเซตามอล หากมีน้ำมูกคัดจมูกให้ใช้น้ำเกลือหยอดจมูกและใช้ไม้พันสำลีเช็ดน้ำมูกออก อาจใช้ยาหยอดจมูกเพื่อลดการบวมของเยื่อบุจมูกเป็นเวลาสั้นๆ 3-5 วัน เป็นต้น

หลักการป้องกันให้ห่างไกลไข้หวัดยามฝนตก

วิธีการป้องกันที่สำคัญ คือ การรักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่อยู่ใกล้ชิดคนที่กำลังป่วยหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนแออัด ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดธรรมดาแต่โรคที่มีความรุนแรงกว่าก็คือ โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วยการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แนะนำให้ฉีดทั้งผู้ใหญ่และเด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไปปีละ 1 เข็ม และควรฉีดในช่วงเดือนก่อนเข้าหน้าฝนเพราะช่วงหน้าฝนจะเป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโรค การฉีดวัคซีนก่อนช่วงหน้าฝนก็เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานได้ทัน สำหรับเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 9 ปี หากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาก่อน ในช่วงปีแรกแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน และปีต่อๆ ไปจึงฉีดปีละเข็ม

ดูแลลูกน้อยในช่วงอากาศเปลี่ยน

สอนสุขอนามัยที่ดีให้ลูก ไอ จาม ควรใช้ผ้าปิดปาก เมื่อสั่งน้ำมูกใส่ทิชชูให้นำไปทิ้งและล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสน้ำมูกหรือเสมหะของตนเอง ไม่ควรใช้มือสกปรกขยี้ตา ไม่เล่นคลุกคลีกับคนที่ไม่สบาย หากบุตรหลานไม่สบายควรหยุดโรงเรียนจนกว่าจะหาย เพราะบุตรหลานอาจมีอาการแย่ลงและมีโอกาสแพร่เชื้อให้เด็กคนอื่นได้

พญ.พิณทิพย์ สุชาติลิขิตวงศ์

กุมารแพทย์โรคติดเชื้อเด็กโรงพยายบาลกรุงเทพคริสเตียน

 

โรคหวัด โควิด  ภูมิแพ้

โรคหวัด โควิด ภูมิแพ้

โรคหวัด โควิด ภูมิแพ้

🔸บทความทางการแพทย์

       แม้ว่าแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้น แต่เมื่อไรก็ตามที่ไอหรือจามในที่สาธารณะ ก็จะต้องเจอกับสายตาหลายคู่มองด้วยสายตากดดัน ว่าเป็น โควิด-19 หรือเปล่า (โดยเฉพาะที่มีคนจานวนมาก เช่น ลิฟต์ รถไฟฟ้า)

แล้วเราจะแยกกันอย่างไรว่าที่จามหรือไอเกิดจาก หวด โควิด-19 หรือภูมิแพ้ ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักสาเหตุของโรคกันก่อนค่ะ

โรคหวัด(Common cold) มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ไวรัสหลายสายพันธุ์ เช่น Rhinovirus, Parainfluenza หรือแม้แต่ Coronavirus (แต่ไม่ รวม SARS-CoV2   ที่เป็นสาเหตุ โควิด-19) ดังนั้น ผู้ป่วยบางส่วนจะมีไข้จามน้ำมูกมากไออาการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น ตามลำดับ

โรคโควิด-19” (COVID-19) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ SAR-CoV2 อาการมากน้อยขึ้นกับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยในรายที่มีอาการ มักจะมีไข้ ไอ น้ำ มูก ไม่ค่อยมาก และบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่ ปอดอักเสบ เหมือนที่เราเห็นในข่าว

โรคภูมิแพ้” (Allergic Rhinitis) สาเหตุเกิดจากร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้บางประเภท ทำให้มีอาการจามคันจมูก คันตา น้ำมูกไหล ผื่นคัน ไม่มีไข้ และในรายที่มีโรคหืด (Asthma) ร่วมด้วยอาจทำให้มีอาการไอแน่นหน้าอก เหนื่อย (คล้ายโควิด-19) เกิดขึ้นได้ อาการดังกล่าวจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่สัมผัสต่อสารที่แพ้ เช่น ช่วงก่อนเข้านอนหรือตอนเช้า

     จะเห็นได้ว่าอาการของทั้งโรคหวัด โควิดและภูมิแพ้นั้น มีบางอาการที่คล้ายคลึงกันดังนั้นหากมีอาการทางเดินหายใจไม่ว่า จะเป็นอาการน้ำมูกไอโดยเฉพาะถ้ามีไข้ หากดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

พญ.ธัชขวัญ อินปันตี  

                                                                        แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

 

ทำไมต้องรักษาโรคภูมิแพ้

ทำไมต้องรักษาโรคภูมิแพ้

ทำไมต้องรักษาโรคภูมิแพ้

🔸บทความทางการแพทย์

 

ในปัจจุบันนี้พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการของโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้น โดยอาการของโรคภูมิแพ้มีได้หลากหลายรูปแบบ บางรายมีอาการภูมิแพ้จมูก เช่น จาม คัดจมูก บางรายมีอาการหลอดลมไวหรือโรคหืดเช่น ไอกลางคืน ไอเวลาวิ่ง บางรายมีอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นอักเสบแดง คันลมพิษ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีอาการเป็นๆหายๆทานยาก็ดีขึ้น

มาทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้ 

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ อาจจะเป็นจากสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น, แมลงสาบ, แมว, สุนัข, หญ้า หรือสารก่อภูมิแพ้ทางอาหาร เช่น นมวัว, ไข่, อาหารทะเล, กล้วย นอกจากนี้ ยาหรือแมลงก็ทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสารที่ตัวเองแพ้ก็จะเกิดกระบวนการอักเสบแล้วมีอาการออกมา โรคภูมิแพ้ถือเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ในระยะแรกของโรคอาการอาจไม่มากนักแต่หากผู้ป่วยยังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ต่อเนื่องอาการก็มักจะมากขึ้นตามลำดับหากเราไม่ทราบว่าแพ้อะไรจะทำให้เราไม่ได้เลี่ยงการสัมผัสสารที่แพ้การอักเสบในร่างกายก็จะมากขึ้นจากที่เคยทานยาเฉพาะตอนมีอาการก็กลายเป็นต้องทานทุกวันจากที่ทานแล้วหายก็จะไม่หาย และจนทำให้มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้

ภูมิแพ้ทางจมูก หากไม่ได้รักษาจะทำให้เป็นไซนัสอักเสบ, แก้วหูอักเสบ (บางรายมาด้วยอาการเกี่ยวกับน้ำในแก้วหูทำให้การได้ยินลดลง), หลอดลมไวหรือโรคหืด (บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต),ในเด็กที่ป่วยบ่อยก็จะมีอะดีนอยด์โตจนทำให้นอนกรนหลับไม่สนิทผลการเรียน แย่ลง รายที่รุนแรงอาจถึงขั้นหยุดหายใจได้

ภูมิแพ้ทางตา หากปล่อยไว้นานๆ และขยี้ตาบ่อยๆ จะทำให้เป็นตากุ้งยิงทำให้ผิวหนังบริเวณเปลือกตาอักเสบจนเป็นรอยคล้ายตีนกา, ในบางรายเยื่อบุตาขาวด้านในเปลือกตาจะเป็นเม็ดใหญ่ๆจนทำให้แก้วตาอักเสบ

แพ้อาหารแบบเฉียบพลัน เช่น การเกิดลมพิษและหากยังทานต่อเนื่องไม่หลีกเลี่ยงบางรายอาจกลายเป็นแพ้รุนแรงแบบ Anaphylaxis ถึงขั้นเสียชีวิตได้

แพ้อาหารแบบลำไส้อักเสบโดยเฉพาะในเด็ก เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเหลว (*คุณหมอที่ดูจะช่วยแยกกับการติดเชื้อในลำไส้ให้ก่อน) อาเจียนเหมือนกรดไหลย้อน ปล่อยไว้เด็กๆ ก็จะเลี้ยงไม่โตและมีภาวะขาดธาตุเหล็ก

สรุปคือ หากรู้ตัวว่าเป็นโรคภูมิแพ้ควรรีบรักษา ควรหาว่าแพ้อะไรจะได้หลีกเลี่ยงอาการก็จะดีขึ้นเร็ว ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

พญ.ธัชขวัญ อินปันตี  

                                                                        แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน