Select Page

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยแพ้อาหาร

Nov 12, 2020 | อ่านบทความทั้งหมด, บทความสุขภาพ, บทความล่าสุด

🔸บทความทางการแพทย์

 

อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นกับเด็กสามารถแสดงออกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. แพ้เฉียบพลัน  อาการมักเกิดขึ้นเร็ว ภายในเวลาไม่กี่นาที ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากกินอาหารที่แพ้เข้าไปโดยอาจมีอาการที่ระบบใดระบบหนึ่งดังต่อไปนี้

         – อาการทางผิวหนัง เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เช่น ผื่นลมพิษ ตาบวม ปากบวม

         – ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลว

         – ระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก นำ้มูกไหล 

หรือ อาจเกิดการแพ้ชนิดรุนแรง เรียกว่า อนาฟัยแลกซิส (anaphylaxis) คือ มีอาการแพ้เฉียบพลันเกิดขึ้นมากกว่า 1 ระบบ มีความรุนแรงมากกว่าและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เช่น ตัวแดง ลมพิษทั่วตัว ร่วมกับหลอดลมตีบหายใจลำบาก/ไอ/หอบเหนื่อย ปวดท้อง/อาเจียน/ถ่ายเหลว ความดันต่ำ ช็อก ซึม และชัก

2. แพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาเป็นวันถึงหลายวันหลังจากกินอาหารที่แพ้ เช่น

         – อาการทางผิวหนัง กระตุ้นให้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบ (atopic dermatitis) เกิดผื่นแดง คัน ผิวแห้ง

         – ระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด แหวะนมบ่อย ภาวะลำไส้รั่ว ท้องเสียเรื้อรังน้ำหนักไม่ขึ้น

         – ระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจครืดคราดเรื้อรัง หายใจดัง นอนกรน

         นอกจากอาการและอาการแสดงต่างๆที่กล่าวมาแล้ว เรายังสามารถตรวจการแพ้อาหารด้วยวิธี ‘การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม’ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการแพ้ชนิดใดค่ะ ถ้าเป็นการแพ้เฉียบพลัน สามารถทำการตรวจโดยใช้วิธีสะกิดผิวหนัง (skin prick test) หรือการตรวจเลือดหาspecific IgE ต่ออาหารที่แพ้ได้ แต่กรณีที่เป็นการแพ้แบบค่อยเป็นค่อยไป การตรวจโดยสะกิดผิวหนังและการตรวจ specific IgE อาจไม่พบความผิดปกติ  แพทย์อาจให้ทดลองหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วดูว่าอาการแพ้ต่างๆหายไปหรือไม่ การวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุด คือ การทดสอบให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (oral food challenge test) แต่การตรวจวิธีนี้จะต้องอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของแพทย์เสมอ โดยเฉพาะกรณีที่แพ้เฉียบพลัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ค่ะ

 

พญ. กัญลดา ว่องวรภัทร

แพทย์เฉพาะทางภูมิแพ้ ศูนย์ภูมิแพ้และแพ้อาหารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน