ไข้เลือดออก
แชร์ :
31 March 2568

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกคืออะไร? เกิดจากอะไร?

ไข้เลือดออกคือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมีพาหะของโรคเป็นยุงลาย ไวรัสชนิดนี้มี 4 สายพันธุ์และทุกสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้ เมื่อยุงดูดเลือดของผู้มีเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว ไวรัสจะไปฝังตัวในผนังกระเพาะอาหารของยุง และใช้เวลาในการฟักตัว 8-12 วันภายในตัวยุง เมื่อยุงที่มีเชื้อภายในตัวกัดผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ อาการของโรคไข้เลือดออกจะสามารถเกิดขึ้นภายใน 3-12 วัน โดยไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดในเขตร้อนชื้นเป็นส่วนมากและระบาดทุกฤดูฝน

มีวิธีสังเกตอาการของไข้เลือดออกได้อย่างไร?

เราสามารถสังเกตอาการของไข้เลือดออกได้ ผ่านการพิจารณาว่าขณะนี้อาการอยู่ในระยะใดของไข้เลือดออก โดย ไข้เลือดออกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่

  1. ระยะไข้สูง : ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน 39-40 องศาติดต่อกัน 2-7 วันมีอาการดังนี้

    • ไข้สูงลอย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้

    • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

    • มีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นทั่วตัว

  2. ระยะวิกฤต : ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อเป็นครั้งแรกมักไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้ มักเกิดขึ้น 3-7 วันหลังจากระยะไข้สูง เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุดเนื่องจากสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมีอาการดังนี้

    • คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียต่อเนื่อง

    • มีจ้ำเลือด ผื่นแดง

    • มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว

    • ปวดท้อง โดยเฉพาะใต้ชายโครงขวา

    • ปัสสาวะลดลง

    • เกล็ดเลือดต่ำส่งผลให้เลือดออกง่ายหรือมีเลือดออกผิดปกติเช่น อาเจียนมีเลือดสีดำ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด เลือดออกในทางเดินอาหารนำไปสู่การช็อกได้

  3. ระยะฟื้นตัว หลังผ่านระยะไข้สูงแล้วไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤตหรือผ่านระยะวิกฤตมาแล้ว 1-2 วัน ร่างกายจะค่อย ๆ ฟื้นตัว และอาการจะดีขึ้นตามลำดับ โดยมีอาการดังนี้

    • ไข้ลดลง อุณหภูมิกลับเป็นปกติ

    • ความดันโลหิตสูงขึ้นชีพจรเต้นเร็ว

    • ผื่นสีแดงเล็ก ๆ สาก ๆ วงสีขาวขึ้นตามร่างกาย มักมีอาการคันร่วมด้วย

    • มีความอยากอาหารมากขึ้น

    • สามารถปัสสาวะได้มากขึ้น

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคไข้เลือดออก

เมื่ออยู่ในระยะวิกฤตของไข้เลือดออก สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็น 

  • ความดันโลหิตต่ำจนช็อก

  • ภาวะไตวาย

  • ตับอักเสบ

  • ไข้เลือดออกรุนแรง (Dengue hemorrhagic fever) ทำให้เกิดเลือดออกที่เนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน ส่งผลให้อวัยวะภายในล้มเหลว นำไปสู่การเสียชีวิตได้

  • การติดเชื้อไวรัสเดงกีจากแม่สู่ลูกผ่านการคลอดธรรมชาติ หากผู้มีครรภ์ติดไข้เลือดออกขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนสามารถมีอาการรุนแรงได้มากขึ้นหากพบในกลุ่มเสี่ยงได้แก่

  • เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

  • ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

  • ผู้ที่เคยติดไข้เลือดออกมาแล้ว เมื่อเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต ทำให้ไม่เป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์นั้น ๆ ได้อีก หากติดไข้เลือดออกในอีก 3 สายพันธุ์ที่เหลือจะทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้น

  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคปอด มีความเสี่ยงที่จะพบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนทั่วไปได้

การรักษา

  • การรักษาโรคไข้เลือดออกมักเป็นการรักษาตามอาการ หากอาการไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ใน 2- 7 วัน

  • สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้เมื่อมีไข้ แต่ไม่ควรใช้ยาลดไข้สูงแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบ เช่น ไอบรูโพรเฟน หรือพอนสแตน เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสที่จะมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่แล้วในผู้ป่วยไข้เลือดออกระยะวิกฤต

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจใช้เกลือแร่ ORS ผสมดื่มแทนน้ำเปล่า

  • เบื้องต้นแพทย์อาจนัดตรวจเลือดเป็นระยะ แต่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีแนวโน้มจะอาการรุนแรง หรือมีอาการซึม อาเจียนจนดื่มน้ำไม่ได้ หรือมีเลือดออก ควรรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกไม่สามารถติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันได้ แต่ติดต่อกันผ่านยุงที่มีเชื้อไวรัสอยู่ภายใน ทางที่ดีคือการป้องกันไม่ให้เป็นไข้เลือดออกตั้งแต่แรก  ดังนั้นสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้โดย

  1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง โดยเพิ่มมาตรการการป้องกันให้สูงขึ้นเป็นพิเศษเมื่ออยู่ในหน้าฝน

  2. ป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าแขนขายาว ติดมุ้งลวดตามช่องเปิดต่างๆในบ้าน ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารป้องกันยุง

  3. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

บริการจากโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

การป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนโดย โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียนเสนอบริการ

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน โดยสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 80.2% ทั้ง 4 สายพันธุ์

ขอขอบคุณบทความจาก นพ. ธนันต์ ตั้งสุขสันต์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

แผนกตรวจสุขภาพ

● ชั้น 2 อาคารหมอแวลส์ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

● เวลาทำการ

» จันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-16.00 น.

» เสาร์ เวลา 07.00-15.00 น.

» อาทิตย์ 07.00-12.00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม, นัดหมายแพทย์ได้ที่

☎ 0-2625-9000, 0-2760-9000 ต่อ 30210, 30211



Admin
โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
© Design By Launchplatform Co,.ltd 2024 ALL RIGHTS RESERVED.