ปวดท้องประจำเดือนเรื่องที่ผู้หญิงควรรู้
อาการปวดประจำเดือนคืออาการปวดบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานในช่วงระหว่ามีประจำเดือนหรืออาจมีอาการปวดท้องก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน บางรายอาจมีอาการปวดหลัง คลื่นไส้ หรือถ่ายเหลวร่วมด้วยโดยอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นสม่ำเสมอตามรอบของประจำเดือน พบว่าผู้หญิงที่อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ 60-90 เปอร์เซ็นต์ มีอาการปวดท้องประจำเดือนโดยมีอาการปวดมากน้อยแตกต่างกันไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุโดยทั่วไปจะแบ่งประเภทของการปวดท้องประจำเดือนเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. การปวดท้องประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ
การประจำเดือนที่ไม่พบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน โดยอาการปวดเกิดจากโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกในช่วงที่มีประจำเดือน โดยสารตัวนี้จะทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดในมดลูกหดรัดตัวทำให้เกิดอาการปวดท้องขึ้น การปวดประจำเดือนโดยสารชนิดปฐมภูมินี้มักพบในวัยรุ่นและเมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดจะดีขึ้น ในบางรายหายไปเลยหลังมีบุตรและอาการปวดมักจะเป็นแค่ช่วงวันแรกๆที่มีประจำเดือน
2. การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ
การปวดประจำเดือนที่ตรวจพบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ช็อคโกแลตซีสต์ที่รังไข่, เนื้องอกมดลูก เป็นต้น การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมินี้มักเกิดในกลุ่มอายุ 25-30 ปีขึ้นไป โดยอาการปวดมักจะปวดทุกวันที่มีเลือดประจำเดือน, มีประจำเดือนมามาขึ้น, มีภาวะมีบุตรยาก มีอาการเจ็บลึกในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยได้
อาการปวดประจำเดือนแบบไหนที่ถือว่าผิดปกติ
อาการปวดท้องประจำเดือนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดูแลตัวเองด้วยอาการเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีความผิดปกติที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาต่อไป
วิธีดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อปวดท้องประจำเดือน
การบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนในเบื้องต้น มีทั้ง แบบไม่ต้องใช้ยา ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, ประคบน้ำอุ่นบริเวณท้องน้อยและหลังล่าง, การนวด, ฝังเข็ม แบบใช้ยาโดย รับประทานยาพาราเซตามอล หรือ ยากลุ่ม NSAIDs เช่น พอนสแตน,ไอบูโพรเฟน ทั้งนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการแพ้ยาและผลข้างเคียงจากยาด้วย
การรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน
สูตินรีแพทย์จะทำการหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติ, ตรวจร่างกาย, ตรวจภายใน, ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ หรือบางรายอาจจะพิจารณาทำการส่องกล้องเข้าไปตรวจภายในช่องท้องเพื่อวางแผนการรักษาด้วยยา, ฮอร์โมน หรือการผ่าตัด ตามความเหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
วิธีการป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้มีฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) หลั่งออกมามากขึ้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้อารมณ์ดี
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีเกลือแร่และวิตามิน เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช
- เลือกรับประทานอาหารประเภทปลามากกว่าสัตว์เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู
สาขาปฏิบัติงาน: สูตินรีเวชกรรมทั่วไป, สูตินรีเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์